วันพุธที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2557

ประวัติความเป็นมาของพิพิธภัณฑ์

ประวัติความเป็นมาของพิพิธภัณฑ์

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงมีพระราชกระแสแนะนำแนวทางการสร้างความรู้ความเข้าใจและจิตสำนึก   ในเรื่องเกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้แก่เยาวชนไว้หลายครั้งหลายครา  ครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์พ.ศ. 2536 ได้มีพระราชกระแสว่า

"การสอนให้เด็กมีจิตสำนึกในการอนุรักษ์พืชพรรณนั้น ควรใช้วิธีการปลูกฝังให้เด็กเห็นความงดงามความสนใจ และก่อให้เกิดความปิติที่จะทำการศึกษาและอนุรักษ์พืชพรรณต่อไป  การใช้วิธีการสอน การอบรมให้เกิดความรู้สึกกลัวว่าหากไม่อนุรักษ์แล้วจะเกิดผลเสีย เกิดอันตรายแก่ตนเอง จะทำให้เด็กเกิดความเครียด ซึ่งจะเป็นผลเสียต่อประเทศในระยะยาว"
ในโอกาสเดียวกันนี้ ยังได้ทรงมีพระราชกระแสเพิ่มเติมด้วยว่า " ตามเกาะต่าง ๆ มีพืชพรรณอยู่มาก แต่ยังไม่มีผู้สนใจเท่าไร จึงน่าจะมีการสำรวจพืชพรรณตามเกาะด้วย"

ต่อมาในปี พ.ศ.2541ได้พระราชทานแนวทางการปฏิบัติแก่กองทัพเรือในการดำเนินงานกิจกรรมสร้างจิตสำนึกของโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ฯ ที่เกาะแสมสารว่า ควรพิจารณาปฏิบัติตามรูปแบบของอุทยานแห่งชาติเกาะปอร์กอรอลส์ และเกาะโคร์ส ที่ฝรั่งเศส ซึ่งได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนมาในปี พ.ศ. 2538 และทรงมีความประทับใจในวิธีการให้ความรู้ความเข้าใจในด้านพันธุ์ไม้และระบบนิเวศต่อเยาวชน ในลักษณะที่เป็นพิพิธภัณฑ์มีชีวิต อันก่อให้เกิดความรู้สึกผูกพันกับธรรมชาตินอกจากนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  ยังได้ฝากงานอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลนี้
ไว้ต่อกองทัพเรือด้วย โดยมีพระราชกระแสต่อผู้บัญชาการทหารเรือ เมื่อ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2544 ว่า

“ให้กองทัพเรือทำงานนี้เพื่อความมั่นคงของประเทศ”

                                                            




พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเกาะและทะเลไทย  ตั้งอยู่ริมทะเลบริเวณเขาหมาจอ ตำบลแสมสาร อำเภอสัตหีบ
จังหวัดชลบุรี ในจุดที่อยู่ตรงข้ามเกาะแสมสาร มีอาณาบริเวณประมาณ 16 ไร่ สิ่งก่อสร้างมีลักษณะเป็นอาคาร
ไต่ระดับเขา ถึงยอดเขา เพื่อให้มองเห็นทัศนียภาพมุมกว้าง ไกล และความลึกของทะเลโดยมุ่งที่จะให้ผู้ชม
เห็นความงดงามของท้องทะเลแล้วเกิดจินตนาการและความปิติที่จะรักษาทรัพยากรธรรมชาติไว้ตามแนวพระราชดำริ
ในหลักวิชาว่าด้วยการพิพิธภัณฑ์ ถือได้ว่าพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเกาะและทะเลไทยเป็นพิพิธภัณฑ์ที่สากลเรียกว่า NATURAL HISTORY MUSEUM  อันเป็นสถานที่รวบรวมและจัดแสดงวัตถุธรรมชาติ ทั้งในด้านธรณีวิทยา
พฤกษศาสตร์ สัตวศาสตร์ ทางทะเลเป็นแห่งแรกในประเทศไทย

ส่วนการศึกษาทรัพยากรชีวภาพและกายภาพในธรรมชาติจริง นอกเหนือจากการชมตัวอย่างในพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติ
วิทยาเกาะและทะเลไทยแล้ว ก็จะต้องลงเรือข้ามไปยังเกาะแสมสารซึ่งได้จัดไว้เป็นเส้นทางศึกษาธรรมชาติ(NATURE TRAIL)   สวนพฤกษศาสตร์ ป่าชายเลน และบ่อแสดงพันธุ์สัตว์น้ำ ทั้งนี้ การเข้าชมในส่วนนี้จะเป็นไปอย่างจำกัด เฉพาะนักวิจัย เยาวชนผู้ด้อยโอกาส และบุคคลที่มีเหตุผลสมควรในด้านการศึกษาตามพระราชดำริ


สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีได้ทรงเสด็จพระราชดำเนินเปิดพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเกาะและ
ทะเลไทย ในโอกาสงานประชุมวิชาการนิทรรศการ ทรัพยากรไทย : ประโยชน์แท้แก่มหาชน ในวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ.2550